ปัตตานี-นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ชิมปูทะเล เตรียมดันอาชีพเลี้ยงปูทะเลในพื้นที่ ชม ปูอร่อยที่สุด หนุน ม.อ. เพาะเลี้ยงลูกปูให้ทันต่อ ความต้องการของเกษตรกร ขยายแปลง

ปัตตานี-นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ชิมปูทะเล เตรียมดันอาชีพเลี้ยงปูทะเลในพื้นที่ ชม ปูอร่อยที่สุด หนุน ม.อ. เพาะเลี้ยงลูกปูให้ทันต่อ ความต้องการของเกษตรกร ขยายแปลง
          วันที่ 20 ตุลาคม 2566 เวลา 14.30 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กพต.) และคณะฯ เดินทางเยือนจังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามความคืบหน้าการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจปูทะเลในพื้นที่ ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ภายหลังที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ ได้ส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง พร้อมติดตามความคืบหน้าการผลความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ ปูดำหรือปูทะเล ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ โดยเพาะพันธุ์ในรูปแบบการเพาะฟักแม่พันธุ์ไข่นอกกระดอง การอนุบาล ก่อนส่งให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยง ณ โรงเพาะฟักสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
          รองนายกรัฐมนตรี ได้สำรวจและพูดคุยกับเกษตรกรเลี้ยงปู พร้อมชิมไข่และเนื้อปูทะเล ก่อนชมเปาะ "อร่อยที่สุด จนภัตตาคารสู้ไม่ได้" และยังชิมยำสาหร่ายผมนาง หรือ แซแฆ (ในภาษามลายู) ที่ชาวบ้านนำมาให้ลองอีกด้วย
          นายสมศักดิ์  กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบางปู เลี้ยงปูในบ่อนากุ้งร้างมานานแล้ว 4-5 ปี โดยเริ่มแรกได้รับการสนับสนุนจาก ศอ.บต. และ ม.อ. บ่อหนึ่งมีความกว้าง 5-6 ไร่ มีปูประมาณ 3,000-4,000 ตัว น้ำหนัก 2 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม เป็นปูไข่ ซึ่งได้ชิมดูแล้วของบางปูอร่อยมาก ทั้งนี้เมื่อได้ชิมแล้ว ก็เป็นการมัดจำส่งเสริมอาชีพนี้ให้ยั่งยืน สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรได้จริง ต่อไปเตรียมแผนการหนุนเสริมให้ ม.อ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นพี่เลี้ยง ให้มีเครื่องมือเพาะเลี้ยงลูกปู ขยายแปลงมากขึ้น ให้ได้จำนวนตามความต้องการของเกษตรกรที่สนใจรับเลี้ยง พร้อมขยายตลาด ไปยังภาคอีสาน และภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ
         ด้าน นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ขณะนี้ ทางจังหวัดได้พูดคุยกับเอกชนบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเอกชนในตำบลบางปู บานา และตันหยงลูโละ กว่า 1,000 ไร่ จากพื้นที่บ่อนากุ้งร้างทั้งหมดกว่า 10,000 ไร่ โดยเจรจาขอทดลองนำร่องเลี้ยงก่อน เป็นเวลา 1 ปี
          จากนั้น คณะฯ ได้เดินทางไปยังโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อติดตามความคืบหน้าการขยายผลความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ "ปูดำ หรือ ปูทะเล" โดยผู้แทนนักวิชาการ ม.อ. เผยว่า ที่ผ่านมาการเพาะเลี้ยงปูไม่สามารถทำได้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้วิธีการสั่งจองมาจาก จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ซึ่งในประเทศไทยมีแค่ 2 แห่งนี้เท่านั้น แต่อัตราการจองมีทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันการไปจับปูตามธรรมชาติมาปล่อยเลี้ยง ไม่ทันตามความต้องการ ม.อ. จึงเป็นฐานในการผลิตลูกปู ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งปัตตานี ซึ่งได้รับ การสนับสนุนงบประมาณจาก ศอ.บต. เพื่อนำไปวิจัยและทำโรงเพาะปูโดยใช้ know how จากเวียดนามร่วมกับความรู้เดิมที่มีของประเทศไทย และทำ MOU ร่วมกัน โดยโรงเพาะฟักสัตว์น้ำแห่งนี้จะเป็นแหล่งในการผลิตและขายลูกปูแก่เกษตรกรในราคาถูก
          ทั้งนี้ สำหรับการส่งเสริมอาชีพเพาะเลี้ยงปูในพื้นที่ ปีงบประมาณ 2567 ศอ.บต. เสนอให้รัฐบาลประสานภาคเอกชนที่มีบ่อกุ้งร้างที่ไม่ใช้งาน มอบให้  กลุ่มเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์เลี้ยงปูและภาครัฐให้การสนับสนุนปรับปรุงบ่อให้สามารถใช้การได้ เนื่องจากขณะนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังศึกษาวิจัย เพิ่มกำลังการผลิตลูกปูให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงปู และคาดการณ์ว่า ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียงไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทจากอุตสาหกรรมปูทะเลในพื้นที่
          และต่อจากนั้น รองนายกรัฐมนตรี และคณะฯ ยังได้เดินทางไป ที่ บริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้การต้อนรับรองนายกฯ เพื่อที่ติดตามความคืบหน้าเมืองต้นแบบอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตรผสมผสาน” ฯ อีกด้วย
บดินทร์ เบญจสมัย / ภาพ/ข่าว
ดวงเนตร จิวะรังสิมา / เรียบเรียง

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar